Asia update

วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คดีสวรรคต ร.8 โดย ดอม ด่านตระกูล




การศึกษาประวัติศาสตร์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เพื่อให้เข้าใจถึงโครงสร้างการเมืองไทยและการเคลื่อนไหวของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อย่างครอบคลุมรอบด้าน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาเรื่องคดีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

เนื่องจากสถานการณ์นี้ทำให้เราสามารถเชื่อมโยงหลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เข้าด้วยกัน และนำไปสู่ความเข้าใจสภาวะการเมืองไทยในปัจจุบันได้กระจ่างชัดขึ้น

เพราะคดีนี้เป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของชาติ แต่กลับถูกกลุ่มต่อต้านนายปรีดี พนมยงค์ อาศัยร่มเงาของสถาบันอันสูงสุดที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้และช่องว่างของคดีนำมาเป็นเครื่องมือใช้กระบวนการสร้างพยานเท็จใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง
จนทำให้เกียรติประวัติของนายปรีดีที่เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น รวมทั้งเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ผู้ดำรงตำแหน่งเลขานุการนายกรัฐมนตรี ต้องมัวหมอง อีกทั้งทำให้ผู้บริสุทธิ์อีก 3 ท่านคือ นายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศริน และนายเฉลียว ปทุมรส ต้องถูกประหารชีวิต

ค่ำวันที่ 9 มิถุนายน 2489 หลังจากในหลวงรัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคต นายปรีดีได้แจ้งประธานรัฐสภาเพื่อเรียกประชุมสมาชิกรัฐสภาเป็นการด่วนเพื่อแจ้งให้ที่ประชุมทราบ และมีสมาชิกสภาหลายท่านต้องการซักถามถึงรายละเอียด ซึ่ง พล.ต.ท.พระรามอินทรา อธิบดีกรมตำรวจ ได้ตอบข้อซักถามในแต่ละประเด็น แต่ดูเหมือนจะยังไม่เป็นที่พอใจแก่สมาชิกสภาบางส่วน แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ส.ส.พระนคร กล่าวเพื่อตัดบทว่า “...ให้รอรัฐบาลทำแถลงการณ์โดยละเอียด ขออย่าให้มีการพิสูจน์หรือพลิกพระศพกันที่นี่...”

ที่ประชุมจึงได้ยุติการซักถาม

รัฐบาลไม่ได้มีเจตนาจะปกปิดเงื่อนงำ ความดำมืดใดๆในคดีสวรรคต หากเพียงต้องการถวายพระเกียรติแด่องค์พระมหากษัตริย์ จึงได้ออกแถลงการณ์ไปตามที่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงเห็นชอบ (แถลงการณ์ว่าเป็นอุปัทวเหตุ) ดังที่หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ ซึ่งอยู่ในวันนั้นด้วยเช่นกัน ได้ประทานให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เสียงไทย ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน 2489 ตอนหนึ่งว่า

“...ทีแรกรัฐบาล โดยเฉพาะหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ก็ได้ตั้งใจไว้ว่าจะชันสูตรพระบรมศพ แต่เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้งสมเด็จพระราชชนนีด้วย ท่านไม่ชอบที่จะให้ทำเช่นนั้น เหตุผลหรือ? ท่านไม่ได้บอกตรงๆว่าท่านไม่ยอม แต่ท่านไม่ชอบ เพราะพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตไปแล้วจะไปพลิกศพชันสูตรอะไรกันให้ทุเรศกันไปอีก กรมขุนชัยนาทฯ พระองค์ท่านก็รับสั่งยืนยันในวันนั้นว่าเอ็กซิเด็นท์...”

เนื่องจากไม่สามารถชันสูตรพระบรมศพให้เป็นที่กระจ่างแจ้งได้ ฝ่ายต่อต้านนายปรีดีจึงสบโอกาสเห็นเป็นช่องทางที่จะทำลายล้างนายปรีดีและรัฐบาล จึงเริ่มต้นแผนการด้วยการโทรศัพท์ไปตามสถานทูตต่างๆในกรุงเทพฯว่าในหลวงรัชกาลที่ 8 ถูกลอบปลงพระชนม์ และปล่อยข่าวลือไปตามวงการต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ในตลาด ในหมู่คนขับรถรับจ้าง เมื่อข่าวลือหนาหูขึ้นจึงอาจหาญกระทั่งจ้างคนไปตะโกนในโรงหนังเฉลิมกรุงว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง”

ต่อมาตำรวจสันติบาลสืบทราบว่าผู้ว่าจ้างคือ นายเลียง ไชยกาล เป็นสมาชิกคนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนผู้รับจ้างชื่อว่านายจุก เป็นนักเลงเตร็ดเตร่อยู่แถวเฉลิมกรุงนั่นเอง

เพราะข่าวลือหนาหูมีมากขึ้นทุกที รัฐบาลจึงยุติข่าวลือด้วยการตั้งคณะกรรมการสอบสวนพฤติการณ์ในการที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ต่อมานายปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

เมื่อการสอบสวนดำเนินไปจนใกล้จะสืบถึงตัวการที่แท้จริงในคดี มีข่าวลือแพร่ออกไป ซุบซิบกันถึงผู้นั้นผู้นี้ว่าเป็นผู้ลงมือ แต่คดียังไม่ทันได้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก็เกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ขึ้นก่อน

หลังรัฐประหาร คณะรัฐประหารเชิญนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี และยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับก้าวหน้า พ.ศ. 2489 ที่นายปรีดีและคณะได้ยกร่างขึ้นใหม่นั้นเสีย และนำรัฐธรรมนูญฉบับถอยหลังมาใช้แทน
สาระสำคัญของความถอยหลังที่เด่นชัดคือ ให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง รื้อฟื้นอภิรัฐมนตรีสภากลับมาใหม่ ให้อำนาจแก่พระมหากษัตริย์เพิกถอนรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะตัวได้ด้วยพระราชโองการ (มาตรา 79)

ที่สำคัญรัฐบาลนี้ได้ตั้งคณะสืบสวนคดีสวรรคตขึ้นใหม่ โดยมอบให้พระพินิจชนคดี (พี่เขยของ ม.ร.ว.เสนีย์และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) เป็นประธานคณะกรรมการ ซึ่งสำนวนคดีพุ่งไปที่นายปรีดีเป็นผู้วางแผนลอบปลงพระชนม์

แผนการทำลายรัฐบาลนายปรีดีมาตั้งแต่ต้นเริ่มสำเร็จผลเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนด้วยการทำรัฐประหารครั้งนี้เอง และผู้ต่อต้านนายปรีดียังพยายามฟื้นฐานะของกลุ่มอนุรักษ์นิยมขึ้นมา พร้อมกับการโฆษณาทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลพลเรือนอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าความสำเร็จของคณะรัฐประหารครั้งนั้นส่งผลยาวนานต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เพราะรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรและประชาชนในยุคหนึ่งเคยยกไว้ในฐานะที่ศักดิ์สิทธิ์กลับหมดความสำคัญลงเพียงแค่ชั่วข้ามคืน และเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่ว่า

“เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นในบ้านเมือง ไม่สามารถรอให้รัฐบาลพลเรือนจัดการเองได้ เพราะบ้านเมืองจะวุ่นวาย เป็นความชอบธรรมที่ทหารต้องเข้ามายึดอำนาจเพื่อแก้ไขสถานการณ์ทุกครั้งไป”

*****************************************************************************
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 382 วันที่ 20-26 ตุลาคม  2555 หน้า 4 คอลัมน์ เปิดฟ้าเปิดตา โดย ดอม ด่านตระกูล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น