ร้านหนังสือแนวประวัติศาสตร์, การเมือง-การปกครอง, หนังสือหายาก, หนังสือความรู้ทั่วไป และผลงานร่วมสมัยของแกนนำเสื้อแดง, กล่องรับสัญญาณดาวเทียม สินค้าเบ็ดเตล็ด / ข่าว SMS ผ่านมือถือ / ทัวร์เสื้อแดง
Asia update
วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555
ถ้านำไปใช้ก็ควรอ้างอิงบ้าง
***********************************************************************
สั่งซื้อหนังสือ "19-19 ภาพชีวิตและการต่อสู้ของคนเสื้อแดง" ได้ที่ ร้านหนังสือ "TPnews" ชั้น 4 (หน้าลิฟต์แก้ว) ห้างอิมพีเรียลลาดพร้าว หรือโทร. 085-5049944 ปกอ่อนราคาเล่มละ 350.- ปกแข็ง 450.-
***********************************************************************
สัปดาห์ที่แล้ว เมื่อได้อ่านรายงานของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ คอป. ใน “ส่วนที่ 2 สรุปเหตุการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้น” เขียนโดยคณะอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริง ซึ่งมีนายสมชาย หอมลออ เป็นประธาน ผู้เขียนก็อุทานขึ้นมาในใจทันทีว่า “เอ๊ะ!!! ผมไปช่วยเขียนลำดับเหตุการณ์หลังรัฐประหารให้กับ คอป.ตั้งแต่เมื่อไหร่” แต่ก็คิดอยู่นาน กว่าจะตัดสินใจลงมือเขียนบันทึกนี้
สาเหตุที่ไม่คิดจะเขียนในช่วงนั้น เพราะเกรงจะเป็นกระแสเดียวกันกับการโจมตีแบบส่วนตัวต่ออนุกรรมการชุดนี้บางท่าน อย่างเช่นที่คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งโจมตี นายเมธา มาสขาว ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ท่าทีแบบนี้ ไม่เป็นประโยชน์เท่าไหร่นัก และสิ่งที่ควรจะทำมากกว่าคือ การวิจารณ์ โต้แย้งเนื้อหางานของ คอป. ที่ออกมา เช่น ข้อมูลหลักฐาน การใช้หลักฐาน การให้เหตุผล การตัดสินประเมินในเรื่องต่างๆ รวมทั้งโครงเรื่องในการนำเสนอ
แต่ท้ายที่สุด ก็ตัดสินใจที่จะเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ ในฐานะคนที่ทำงานเขียนเองมาบ้าง เป็นบรรณาธิการ แก้ไข ปรับปรุงบทความของคนอื่นมาบ้างเล็กน้อย (แม้จะไม่ได้ดีมากเหมือนพวกมืออาชีพ) และคิดว่า ในอนาคตคงจะฝากปากท้องกับงานประเภทนี้ และดังนั้น จึงตระหนักว่า การเขียนนั้น กว่าจะได้สักประโยคหนึ่ง ย่อหน้าหนึ่งออกมานั้น มันไม่ง่ายเลย ไม่นับเวลาในการปรับปรุงแก้ไขเพื่อตีพิมพ์ และคนทำงานนั้นควรได้รับเกียรติ
ดังนั้น ทุกครั้งที่เอางานคนอื่นมาใช้ไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง มากบ้างน้อยบ้าง ต้องอ้างอิง ให้เครดิตทุกครั้ง และสิ่งเหล่านี้ควรจะเป็นบรรทัดฐานในหมู่คนที่ทำงานในด้านนี้
พูดตรงๆ คือ ผู้เขียนเห็นว่า รายงาน คอป. ชิ้นนี้ ในส่วนของลำดับเหตุการณ์บางส่วน มีรายละเอียดในการบรรยาย สำนวน แม้กระทั่งคำที่เน้นโดยใช้เครื่องหมายคำพูด (“”) ในหลายเหตุการณ์ ตรงกับหรือคล้ายกันกับในหนังสือภาพ 19 - 19 : ภาพ ชีวิต และการต่อสู้ของคนเสื้อแดง จาก 19 กันยา 49 ถึง 19 พฤษภา 53 ของสำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน ที่ผู้เป็นบรรณาธิการ อย่างน่าตกใจ ราวกับว่าคัดลอก หรือคัดลอกแล้วแก้ไขนิดหน่อย และคงเอกลักษณ์บางอย่างไว้ โดยไม่ยอมอ้างอิง
ก่อนที่จะแสดงให้เห็นรายละเอียดข้างหน้า อยากโฆษณาหนังสือนิดหน่อย ซึ่งจะช่วยให้เห็นที่มาของความประหลาดใจของผู้เขียนได้อย่างชัดเจน
ความพยายามในการทำหนังสือภาพเล่มนี้ เริ่มจากผู้เขียนและเพื่อนๆ ในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน/คนเหมือนกัน หลังจากเหตุการณ์การนองเลือดในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ได้ปรึกษากันว่า น่าจะมีหนังสือภาพสักเล่มหนึ่งที่บันทึกประวัติศาสตร์เรื่องราวและชีวิตการต่อสู้ขบวนการเคลื่อนไหว ที่เรียกว่า “คนเสื้อแดง” โดยการนำภาพที่พวกเราได้ถ่ายไว้มารวมกัน และขอจากคนอื่นๆ ที่รู้จัก มาเรียงตามลำดับเหตุการณ์เพื่อเล่าเรื่อง พร้อมกับเขียนคำบรรยายภาพ โดยจะให้เห็นถึงความพยายามและพลวัตของขบวนการเคลื่อนไหวตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างน้อยก็ควรจะครอบคลุมเหตุการณ์ที่เป็นหลักหมายในช่วงต่างๆ รวมทั้งเนื้อหาในการเคลื่อนไหวแต่ละช่วง โดยพวกเราได้ช่วยกันทั้งในส่วนของการรวบรวมภาพ และจัดทำเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์อย่างละเอียด ในเว็บบอร์ดเพื่อใช้ประโยชน์ในการทำหนังสือเล่มนี้ และต่อมาสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน รับเป็นผู้จัดพิมพ์ โดยหวังว่าจะมีรายได้จำนวนหนึ่งมาสนับสนุนการทำงานของ ศปช.
ด้วยความคิดแบบนี้ อะไรที่เป็นครั้งแรกจะถูกเน้น ตัวละครกลุ่มต่างๆ จะถูกให้ความสำคัญ ฉากหลังเวที คำบรรยายหัวข้อของการชุมนุม การใช้สัญลักษณ์ต่างๆ จะถูกระบุ การนำในแต่ละช่วงที่มีพลวัตจะได้รับการบันทึก เนื้อหาข้อเรียกร้องที่สำคัญในบางช่วงจะถูกบรรยาย รวมทั้งตัวเลขบางตัว ในการเล่าเรื่องต่อเนื่องกันไป ภายใต้กรอบของคำบรรยายภาพสั้นๆ แบบคำบรรยายภาพในหนังสือพิมพ์ และใช้การเน้นที่สำคัญโดยการใช้เครื่องหมายคำพูด (“ ”) นี่คือ สไตล์ของการเล่าเรื่อง รวมทั้งการทำลำดับเหตุการณ์เป็นภาคผนวก ให้ครอบคลุมเหตุการณ์ที่ไม่มีภาพในเล่ม และง่ายต่อการใช้ศึกษาค้นคว้าศึกษาต่อไป
แม้หนังสือนี้จะไม่ได้รับการกล่าวขานถึงมากนัก แต่สำหรับพวกเราซึ่งเป็นผู้รวบรวมแล้ว ก็เป็นหนังสือภาพที่รวมรวบการเคลื่อนไหวไว้มากที่สุดและทำให้เห็นพลวัตของการเคลื่อนไหวได้พอสมควร
กลับมาที่รายงานของ คอป. ในส่วนของลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ นปช. ซึ่งจริงๆ แล้ว มีความสำคัญต่อเนื้อหาไม่มากนักและใครๆ ก็สามารถที่จะรวบรวมและเขียนขึ้นมาได้จากข้อมูลที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ตามเป้าหมายและตามสไตล์ของคนเอง ซึ่งในหนังสือภาพก็ทำเช่นนั้น
แต่เมื่อตรวจสอบเปรียบเทียบกับคำบรรยายในหนังสือภาพแล้ว กลับผมว่า ข้อความ สไตล์ในการเขียน โครงในการบรรยายเหตุการณ์ ในรายงาน คอป. กับคำบรรยายในหนังสือภาพนั้นพ้องกันจนมากเกินไป มีทั้งข้อความในประโยค คำบรรยายเหมือนกันเกือบทั้งหมด หรือคล้ายกับมีการเขียนใหม่จากคำบรรยายเดิม ที่ยังคงสำนวนเดิมไว้ หรือยังคงจุดเน้นในเครื่องหมายคำพูด (“”) ไว้หลายจุด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว จุดเน้นพวกนี้ ไม่จำเป็นเลยสำหรับลำดับเหตุการณ์ในรายงาน คอป. และถ้าจะเน้นก็ไม่น่าบังเอิญที่จะมีการเน้นแบบที่ทำในหนังสือภาพ (ดูรายละเอียดในล้อมกรอบ)
บันทึกทั้งหมดนี้ ไม่ต้องการที่จะคิดกล่าวหาว่า รายงาน คอป. คัดลอก ตัดแปะ หรือขโมยงานคนอื่นมาเขียนใหม่ และไม่คิดว่าจะพิสูจน์หรืออยู่ในขอบเขตที่จะเอาผิดด้วยการดำเนินคดีทางกฎหมายได้ แต่บังคับใจที่จะให้หยุดสงสัยไม่ได้จริงๆ
นอกจากนั้น ยังเห็นว่า เพื่ออนาคตสำหรับคนที่ทำงานเกี่ยวกับเขียนๆ ถ้ามีกรณีคัดลอกเอามาใช้โดยไม่ให้เครดิตเลย ไม่ควรจะปล่อยผ่านไปเฉยๆ เช่นเดียวกัน
ถ้าไม่ใช่เป็นดังที่ผู้เขียนสงสัย คอป. โดยนายสมชาย หอมลออ ประธานคณะอนุกรรมการชุดนี้ น่าจะชี้แจงเรื่องนี้มา เพื่อจะได้ไม่เป็นที่ครหา และทำให้ผู้เขียนหายสงสัยว่าตัวเองไปช่วยงาน คอป. มาตั้งแต่เมื่อไหร่
------------------------------------------------------------------------------------------------------ ที่มา : ประชาไทออนไลน์
------------------------------------------------------------------------------------------------------
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น