Asia update

วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เชิญร่วม “รำลึกสี่ปีการจากไป... ลุงสุพจน์ ด่านตระกูล”

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

เชิญร่วม รำลึกสี่ปีการจากไป... ลุงสุพจน์ ด่านตระกูล
ณ ร้านหนังสือ “TPNews” อิมพีเรียลลาดพร้าว ชั้น 4 (เยื้องลิฟต์แก้ว)
วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2556

กำหนดการ
13.30-13.40 น. คุณจอม เพชรประดับ กล่าวนำ
13.40-14.00 น. วิดีโอลิ้งค์ คุณจักรภพ เพ็ญแข เรื่อง "มรดกของลุงสุพจน์" และกล่าวเปิด
14.00-15.00 น. คุณวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ผู้ก่อตั้ง นปช. สนทนาเรื่อง "สุพจน์ ด่านตระกูล...ในความทรงจำของผม"
15.00-16.00 น. อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ก่อตั้ง กลุ่มนิติราษฎร์ สนทนาเรื่อง "คุณูปการของสุพจน์ ด่านตระกูล  ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยไทย"
16.00-17.00 น. คุณดอม ด่านตระกูล สนทนาเรื่อง "ลูกสาวเล่าถึงพ่อ"
17.00น.          คุณป้าโสภณ ด่านตระกูล ภรรยาลุงสุพจน์ฯ กล่าวขอบคุณ
ผู้ร่วมงานตลอดจนวิทยากรมอบของที่ระลึก
17.15น.         คุณจอม เพชรประดับ กล่าวสรุปและปิดงาน

 *************************************************************




ชีวิต “ลุงสุพจน์ ด่านตระกูล”

“ลุงสุพจน์ ด่านตระกูล” เกิดเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2466 ที่บ้านปลายคลอง หมู่ที่ 6 ตำบลเชียรเขา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เข้าร่วมกับพวกต่อต้านญี่ปุ่น (เสรีไทย) และได้มีโอกาสรู้จักกับนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ภายหลังสงครามได้เข้าทำงานหนังสือพิมพ์และร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง จนถูกจับกุมในคดี 10 พฤศจิกายน 2495 จากความเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเกาหลี ที่รู้จักกันในนามของกบฏสันติภาพ โดยคราวนั้น ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยานายปรีดี รวมทั้งนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์หลายคนถูกกวาดจับ ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 20 ปี แต่ติดคุกอยู่ประมาณ 5 ปี ก็ได้รับนิรโทษกรรม ในปีฉลองกึ่งพุทธกาล พ.ศ.2500

เมื่อออกจากคุกมาประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์ ก็ถูกจับกุมอีกครั้งในปี 2501 ยุคของรัฐบาลเผด็จการ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในข้อหา กบฏภายในราชอาณาจักรและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ และยกฟ้องข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

จากนั้นได้อุทิศตนให้กับการเคลื่อนไหวทางสังคม สนใจศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคหลัง 24 มิถุนายน 2475 อย่างต่อเนื่อง ในนาม "สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม"

-         เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์สังคม
-         นักเขียนรางวัลเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
-         เป็นนักเขียนที่ได้รับฉายาจากวงการสื่อมวลชนว่า องครักษ์พิทักษ์ปรีดี, ขุนพลผู้พิทักษ์การอภิวัฒน์ 2475
มรณกรรมเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2552 สิริอายุรวม 86 ปี

ปัจฉิมวาจา “รัฐประหาร19กันยาจะนำไปสู่อภิวัฒน์สมบูรณ์”
 
นายสุพจน์หรือที่บรรดานักกิจกรรมรุ่นหลังเรียกว่า "ลุงสุพจน์" นอกจากจะทำหน้าที่ในการเขียนหนังสือจำนวนมากเพื่อปกป้องการอภิวัฒน์ 2475 และตอบโต้บรรดาปฏิกิริยาขวาจัดที่มุ่งร้ายโจมตีรัฐบุรุษอาวุโสปรีดีว่าพัวพันกับคดีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 อย่างสืบเนื่องเอาการเอางานและน่ายกย่องในความมุ่งมั่นแล้ว ในบั้นปลายชีวิตยังกระฉับกระเฉงในการเข้าร่วมกิจกรรมการเสวนาต่างๆ รวมทั้งถ่ายทอดประสบการณ์แก่บรรดานักวิชาการ นักคิด นักกิจกรรมรุ่นหลังผู้ใฝ่หาสัจธรรมอย่างไม่ขาดตอน
 
หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่นานนัก กลุ่มประชาชนผู้ต่อต้านการทำรัฐประหารได้จัดกิจกรรมสัมมนาขึ้นที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ "ลุงสุพจน์" ในบั้นปลายได้รับเชิญขึ้นเวทีอภิปราย โดยยังมีร่างกายที่กระฉับกระเฉงและน้ำเสียงแจ่มใส และยังเต็มไปด้วยคามหวัง
 
“ลุงสุพจน์” กล่าวตอนหนึ่งในกิจกรรมสัมมนานัดนั้นว่า การทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั้น นับว่าแตกต่างไปจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจหลายครั้งที่ผ่านๆ มา เพราะหลายครั้งที่ผ่านมานั้นอาจเรียกได้ว่าเป็น "ความขัดแย้งรอง" ซึ่งก็คือบรรดาชนชั้นปกครอง หรือผู้มีอำนาจในโครงสร้างส่วนบนสุดของสังคมยื้อแย่งอำนาจกันไปมา ประชาชนแทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ครั้งหลังสุดนี้ถือเป็น "ความขัดแย้งหลัก" กล่าวคือเป็นการขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครองที่อยู่บนส่วนยอดสุดของโครงสร้าง ทางสังคม แย่งชิงอำนาจไปจากตัวแทนอันชอบธรรมที่ประชาชนได้พากันเลือกตั้งและสนับสนุน จึงเป็นการขัดแย้งหลักระหว่างชนชั้นปกครองกับประชาชนผู้ถูกกดขี่
 
ซึ่งความขัดแย้งหลักดังกล่าวในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีน้อยครั้ง คือกรณีอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากบรรดาศักดินามาสู่ประชาชนชั้นไพร่ และต่อมาในกรณี14 ตุลาคม 2516 ที่ประชาชนช่วงชิงอำนาจมาจากบรรดาขุนศึกผู้กดขี่ ส่วนการรัฐประหาร 19 กันยานั้น เมื่อชนชั้นผู้ปกครองที่กดขี่แย่งชิงอำนาจไปจากประชาชน คราวนี้ประชาชนผู้ถูกกดขี่คงไม่ยินยอม เพราะประชาชนตระหนักในพลังอำนาจของตนเอง จึงต้องคาดการณ์ว่าความขัดแย้งหลักในครั้งนี้จะนำไปสู่การอภิวัฒน์ที่สมบูรณ์ที่ลงท้ายด้วยชัยชนะของฝ่ายประชาชนผู้ถูกกดขี่ในที่สุด เนื่องจากบรรดาชนชั้นปกครองผู้กดขี่ไม่อาจจะฝืนต่อสัจจะทางประวัติศาสตร์ได้แน่นอน

“ตายตาหลับแล้วมีคนรุ่นใหม่สืบทอดภารกิจ”
 
สำหรับ ”ลุงสุพจน์” ในบั้นปลายยังเข้าร่วมกิจกรรมของประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย นักกิจกรรมที่ไปเยี่ยมลุงสุพจน์เมื่อวันอาทิตย์ 1 ก.พ. 2552 ขณะลุงป่วยได้เล่าว่า “อาจารย์สุพจน์ ด่านตระกูล” ได้เข้าพักอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เนื่องจากโรคมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง ตามคำขอร้องของครอบครัว ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 30 ม.ค.2552 ท่านปฏิเสธการรักษาด้วยเคมีบำบัด และวิธีอื่นๆ แต่ยอมรับกลูโคส และสมุนไพรเพื่อรักษาสมดุลในร่างกาย ท่านยังมีแผนงานที่จะรวบรวมงานวิจัยในหัวข้อ การปฏิวัติประชาธิปไตยในสยาม คำทักทายแรกที่ท่านเอ่ยกับผู้ไปเยี่ยมคือ "(ชุมนุม) เมื่อวานเป็นไงบ้าง" พร้อมกับเตือนว่าให้เคลื่อนไหวโดยคำนึงถึง ภววิสัย ไม่ต้องรีบร้อนบุ่มบ่าม
 
“นายปิยบุตร แสงกนกกุล” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง “ลุงสุพจน์” ว่า ในช่วงบั้นปลายชีวิตนั้น “ลุงสุพจน์” กับ “ลุงศุขปรีดา พนมยงค์” (บุตรชายนายปรีดี) และมิตรสหาย จะนัดเจอกันเพื่อกิน ดื่ม สนทนา เป็นประจำทุกวันเสาร์ต้นเดือน ที่ร้านย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พักหลังๆ นี้ กลุ่มคุณลุงได้ให้เกียรติพวกผมกลุ่ม 5 คน (หมายถึง 5 อาจารย์นิติศาสตร์คัดค้านรัฐประหาร-ประชาไท) ไปร่วมโต๊ะด้วย หากใครไม่ติดธุระก็จะไปกัน
 
ครั้งหลังสุดที่ผมไปนี้ ผมเตรียมจะเดินทางกลับมาฝรั่งเศสในอีกไม่กี่วัน โทรไปถามพรรคพวกแล้ว ติดธุระบรรยายกันหมด บางคนก็อยู่ต่างประเทศ ผมเลยไปคนเดียว เพราะคิดว่า กว่าผมจะกลับมาอีก กว่าจะได้มีโอกาสเจอคุณลุงเหล่านี้ คงอีกนาน และด้วยความสัตย์จริง ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่ไม่มีใครหน้าไหนหนีพ้น กว่าผมจะกลับมาก็ไม่ทราบว่าจะมีโอกาสได้พบคุณลุงครบทุกท่านหรือไม่
 
ผมได้พิมพ์บทความ "ปรีดี พนมยงค์ กับกฎหมายมหาชนไทย" เพื่อมอบให้กับ คุณลุงศุขปรีดาและคุณลุงสุพจน์ พร้อมกับนำหนังสือรวมเล่มแรกของผมไปมอบให้ท่านด้วย ท่านเองก็มีไมตรีจิต มอบหนังสือ กรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ที่นำมาพิมพ์ใหม่ให้ผมด้วย ซึ่งนับเป็นเกียรติต่อผมอย่างยิ่ง พวกเราสนทนากัน จนได้เวลาแยกวง ผมรอเดินไปส่งคุณลุงศุขปรีดา และคุณลุงสุพจน์
 
คุณลุงศุขปรีดา อวยพรผมให้โชคดี ส่วนคุณลุงสุพจน์ บอกกับผมว่า "อาจารย์ยังเป็นคนหนุ่ม อาจารย์มีโอกาสได้เห็นเหตุการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อนี้แน่นอน อย่าลืมที่จะบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ไว้ เพื่อมิให้ใครมาบิดเบือนประวัติศาสตร์นี้ในวันข้างหน้า"
 
และปิดท้ายด้วยประโยคว่า "ผมเห็นกลุ่มอาจารย์เป็นคนหนุ่ม และมีความคิดแบบนี้ ผมก็วางใจ และคงนอนตายตาหลับ"
 
แรงกาย แรงใจ แรงสมอง ที่คุณลุงสุพจน์ ทำมาตลอด ตามความคิด ความเชื่อของคุณลุงนั้น ไม่เสียเปล่าแน่นอน ขอไว้อาลัยแด่คุณลุงสุพจน์ ด่านตระกูล นายปิยบุตร กล่าว

ธงสามห่วงสัญลักษณ์สันติภาพ

สัญญาลักษณ์ห่วงกลม ๓ ห่วง สีเหลือง สีขาว และสีดำ ที่อยู่บนผืนผ้าสีแดงนี้ “ลุงสุพจน์ ด่านตระกูล” เป็นผู้ออกแบบ โดยครั้งแรกได้ทำเป็นหัวเข็มขัดใช้ส่วนตัว ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ และอธิบายความว่า สีแดง หมายถึงเลือด ห่วงสีเหลือง สีขาว และสีดำ ที่สอดร้อยกันอยู่นั้นหมายถึง ชาติพันธุ์มนุษย์อันจำแนกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ ๓ กลุ่ม คือกลุ่มคนผิวเหลือง กลุ่มคนผิวขาว และกลุ่มคนผิวดำ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีเลือดสีเดียวกัน อันเป็นความปรารถนาสูงสุดของ “ลุงสุพจน์ ด่านตระกูล” ที่ต้องการให้คนทุกสีผิวบนโลกนี้อยู่ร่วมกันด้วยความรัก ด้วยสันติภาพ และภราดรภาพ

น้อมคารวะ สุพจน์ ด่านตระกูล : ส่งช่วงธง มือต่อมือ
 
สะบัด ธงทิวราย             
แจ้งหมาย สัจธรรม
 
สัญญาณ เพื่อรุกนำ         
อิสระ เสรีผล

       สุพจน์ พลพากษ์             
ทวนกราก กระแสชล

       ความจริง เพื่อขุดค้น       
ให้ข้อคิด แห่งความจริง

       ธงทิว พริ้วสะบัด             
เพื่อชี้ชัด ใช้อ้างอิง

       ต่อนี้ ใครจะติง                
เมื่อผืนธง ละลิ่วลา
เมื่อมือ ซึ่งถือธง             
ทรุดร่างลง สยบพื้น

ที่เหลือ ก็หยัดยืน           
และยื่นมือ รับช่วงธง

ร้อยแสน พันหมื่นมือ      
ปักธงถือ อย่างมั่นคง

แน่วแน่ แม้ชีพปลง         
ส่งช่วงธง มือต่อมือ

(“มังกรดำ” ประพันธ์กาพย์ยานี 11 นี้ ขึ้น เมื่อ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ โพสต์ที่ประชาไทเว็บบอร์ด ระบุว่า "ด้วยเจตนา รจนาคำแทนธูป เพื่อคารวะดวงวิญญาณสุพจน์ ด่านตระกูล บุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของแผ่นดินท่านนี้")


แด่.... สี่ปีลุงสุพจน์ ด่านตระกูล

รำลึก      นึกถึง ยิ่งซึ้งจิต
ลุงสุพจน์ นักคิด และนักเขียน
ด่าน       ใดใด กั้นขวาง ก็ถางเตียน
ตระกูล    เรียน ตระกูลรู้ คู่สัจจัง

จักกี่ปีผ่านไปยังใฝ่อ่าน
ยิ่งอ่านงานสานค้นยิ่งข้นขลัง
ลุงสุพจน์จากกายแต่ใจยัง
สร้างพลังสู้อสัตย์มุ่งสัจธรรม

จักรภพ เพ็ญแข
๑๒ ก.พ. ๒๕๕๖

 


 


 
 

วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555

กราบอวยพรปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๖

 
กราบอวยพรปีใหม่ พ.ศ.๒๕๕๖ถึง


ฉนำใหม่ไคลคลามาอีกครั้ง                 
เราก็ยังร่วมสู้ไม่รู้ถอย

เพื่อเสรีกี่ครั้งก็ยังคอย                       
จารึกรอยมวลชนบนแผ่นดิน

อยากไปกราบปีใหม่ถึงในบ้าน             
กับมวลชนหลายล้านให้ถึงถิ่น

จากมานานหลายเพลายังอาจินต์  
ไม่สุดสิ้นความคะนึงคิดถึงกัน

แต่เมืองไทยยังไม่จบครบวงจร             
จึงอวยพรจากใจในความฝัน

ให้กุศลผลบุญคุณอนันต์                     
ของมวลชนทั้งนั้นให้ดลใจ

ใครร่วมสู้ชูชาติให้ปราศทุกข์  
ใครสร้างสุขประชาเช่นให้เป็นใหญ่

ใครกดขี่สารพันให้บรรลัย                   
ใครแอบแกล้งคนไทยให้จบเกม

ปีใหม่ขอให้ใหม่ในใจก่อน                  
ถึงอวยพรให้สนุกสุขเกษม

แต่ถ้าขั้วของเก่ายังเข้าเคลม                
ก็จบเกมไม่ต้องมีปีใหม่กัน

จึงอวยพรให้พวกเราล้วนก้าวหน้า         
นำพาราก้าวหนึ่งให้ถึงฝัน

สร้างรัฐของมวลชนคนสำคัญ              
จึงสมวันสุขศรีปีใหม่เอย.

                              
                          จักรภพ เพ็ญแข

วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

มอบหนังสือเป็นของขวัญปีใหม่ 2556

 
 
 
 
 

ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ ร้านหนังสือ "ทีพีนิวส์" ของ "คุณจักรภพ เพ็ญแข" เชิญชวนพี่น้องมวลชนคนเสื้อแดง มอบของขวัญให้แก่กัน ด้วยหนังสือหลากหลายประเภท อาทิ หนังสือประวัติศาสตร์, การเมือง, ธรรมะ, หนังสือเกี่ยวกับดอกไม้ใบไม้, หนังสือความรู้ด้านสุขภาพ, ความสวยความงาม, งานประดิษฐ์, อาหาร ฯลฯ สามารถเลือกได้ตามชอบใจ...

"มอบหนังสือ มอบความรู้คู่ความสุข" ในปี 2556 นี้

ร้านหนังสือ "ทีพีนิวส์" ตั้งอยู่ที่ ชั้น 4 (เยื้องลิฟต์แก้ว) ศูนย์การค้าอิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว โทร. 085-5049944

พิเศษ สำหรับท่านที่ซื้อมอบเป็นของขวัญ ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2555 - 15 มกราคม 2556 ทางร้านขอสมนาคุณด้วยการห่อและผูกโบว์ให้ฟรีค่ะ

**********************************************************************

วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เสวนา'รักเอย': ‘สมศักดิ์’ ชี้กระแสกษัตริย์นิยม(ในคนชั้นกลาง)กู่ไม่กลับ เหตุปัญญาชนไทยพลาด


8 ธ.ค.55 อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สำนักพิมพ์อ่านจัด สัมมนาวิชาการ เรื่องเล่าและความทรงจำในงานวรรณกรรมบันทึก กรณีศึกษา “รักเอย” ภายในงานมีการสัมภาษณ์นางรสมาลิน ตั้งนพกุล หรือป้าอุ๊ ภรรยาอากง ผู้เขียน ‘วรรณกรรมบันทึก’ เล่มนี้ ตลอดจนการอภิปรายทางวิชาการ และมีการอ่านบทกวี

ทั้งนี้ อากง หรือนายอำพล ตั้งนพกุล อายุ 61 ปี ถูกพิพากษาจำคุก 20 ปีในความผิดตามมาตรา 112 แต่เสียชีวิตภายในเรือนจำด้วยโรคมะเร็งหลังจากถูกคุมขังเกือบสองปี ส่วนหนังสือรักเอย เป็นหนังสือที่เขียนโดยภรรยาอากง เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่านสำหรับแจกในงานฌาปนกิจศพอากง

การอภิปรายครั้งนี้ ประกอบด้วยวิทยาการหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น เดือนวาด พิมวนา นักเขียนซีไรต์, ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.), สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา มธ., สุธิดา วิมุตติโกศล คณะศิลปศาสตร์ มธ. นอกจากนี้ยังมีเวทีอภิปรายเสียงสะท้อนจากเครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 ด้วย

ไอดา อรุณวงศ์ บก.นิตยสารอ่าน กล่าวว่า ผู้คนคงไม่อาจลืมได้ว่าการตายของอำพลเกี่ยวข้องกับ 2 สถาบันคือ สถาบันตุลาการที่แม้ว่าจะมีบุคลากรที่แตกต่างหลากหลายอย่างไร มีหลายท่านมีใจเป็นธรรมอยู่บ้างอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือศาลได้ตัดสินจำคุก 20 ปีแก่ประชาชนคนไทยที่มีศักดิ์ศรีคนหนึ่ง ทั้งหลักการก็มีอยู่ว่า จำเลยย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์จนสิ้นสงสัยและภาระการพิสูจน์อยู่ที่โจทก์ ไม่ใช่จำเลย โดยเฉพาะคดีความเกี่ยวกับมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง อีกสถาบันหนึ่งคือสถาบันกษัตริย์ ที่สังคมจำกัดสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการควบคุมทางกฎหมายและวัฒนธรรม จนทำให้ประชาชนไทยมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความระมัดระวังและหวาดระแวง แม้แต่การจะพูดว่ารักก็ยังต้องพูดในแบบที่อนุญาตให้พูดเท่านั้น


รสมาลิน ตั้งนพกุล ได้กล่าวขอบคุณผู้ร่วมงานและทุกคนที่ยังให้กำลังใจและไม่ละเลยครอบครัวของคนธรรมดา นอกจากนี้ยังได้อ่านกวีที่แต่งขึ้นเพื่องานนี้ มีใจความว่า “เปรียบเรือน้อยลอยล่องต้องอับปาง ลอยลิ่วคว้างกลางกระแสสินธุ์ เหลียวทางไหนไม่มีใครได้ยลยิน ตะเกียกตะกายป่ายดิ้นแทบสิ้นใจ สะเปะสะปะมาทางใหม่ได้เจอบก รีบกระโจนหนีนรกที่เลวร้าย หวังพ้นทุกข์ที่แรงร้อนได้ผ่อนคลาย แต่ที่ไหนได้กลับเป็นทะเลทรายที่ล้อมเรา"

เดือนวาด พิมวนา กล่าวถึงวรรณกรรมเล่มนี้ว่าเป็นก้าวย่างสำคัญของการลุกขึ้นมาเขียนวรรณกรรมจากชีวิตจริง ของคนธรรมดาที่ได้รับความอยุติธรรม ในยุคสมัยที่ปัญญาชน ศิลปิน นักเขียน ไม่ทำหน้าที่นี้ แต่เดิมความเป็นคนธรรมดา ยากจน ขาดโอกาส ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ต้องคิดดิ้นรนเพื่อมีชีวิตอยู่และดูถูกตนเองว่าไม่มีความรู้จะไปถกเถียงเรื่องการเมือง ไม่ยุ่งเรื่องการเมืองโดยคิดว่าการเมืองจะไม่เข้ามายุ่งกับชีวิตของพวกเขา แต่ความเป็นจริงคนตัวเล็กตัวน้อยต่างก็เป็นพลเมือง มีส่วนเกี่ยวข้องการเมือง และพร้อมจะได้รับความอยุติธรรมเหมือนๆ กัน ป้าอุ๊เป็นตัวอย่างของชาวบ้านคนหนึ่งที่ความรู้ก็มีไม่มาก โอกาสต่างๆ ก็แทบไม่มี มีเพียงประสบการณ์ของการถูกกระทำอย่างรุนแรง และลุกขึ้นมาเขียนงานที่เป็นความจริง

“งานเขียนของเขาแม้พยายามทำให้เป็นวรรณกรรมมากขนาดไหน ถ้าส่งเข้าประกวดก็ยังไม่ดีพอเท่ากับปัญญาชนที่มีความรู้ มีโอกาสที่ดีทำ แต่สิ่งที่เป็นอยู่จริงในวันนี้ก็คือ งานเขียนของชาวบ้านคนหนึ่งที่ผ่านสถานการณ์มา มีความจริงทุกตัวอักษร มีความจริงมาจากเลือดเนื้อ จากชีวิตของเขา ทุกอณู ทุกตัวอักษร ทุกถ้อยคำ แม้จะเป็นถ้อยคำที่ธรรมดาสามัญมาก เป็นถ้อยคำที่อ่านในสถานการณ์ธรรมดาอาจโน้มน้าวใครไม่ได้เลย แต่ว่าในสถานการณ์แบบนี้ต่อให้เขียนผิดทุกประโยค ก็เป็นสิ่งจริงทุกถ้อยคำอยู่นั่นเอง”


เธอยังกล่าววิพากษ์วิจารณ์ปัญญาชนนักเขียนเพื่อชีวิตด้วยว่า ตกอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์แบบคนชั้นกลางเพื่อแสวงหาชื่อเสียง ความมีตัวตน ผลงานเพื่อชีวิตของศิลปินใหญ่ๆ ที่เราเคยเข้าใจว่าพวกเขาได้รับการบ่มเพาะมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลานั้น ต้องทบทวนความเชื่อนั้นกันใหม่ เพราะเมื่อสถานการณ์ความรุนแรง โหดร้ายเกิดขึ้นอีกครั้งในยุคสมัยนี้ พวกเขากลับไม่ยืนเคียงข้างประชาชน และยึดติดอยู่แต่กับผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการ

“คุณแสดงออกไม่ได้ เพราะคุณมีผู้ใหญ่ มีพวกพ้อง มีพี่ มีคนที่ขอร้องคุณเต็มไปหมดที่อยู่ในแวดวง ถ้าผู้ใหญ่ของคุณไม่ใช่หัวขบวนของระบบอุปถัมภ์ก็อาจจะพาคุณให้ก้าวไปสู่ความคิดที่ดีได้ว่า ความอยุติธรรมกำลังเกิดขึ้นตรงหน้า แต่ถ้าผู้ใหญ่ของคุณไม่เห็น ถึงคุณเห็นก็ออกมาไม่ได้ เพราะมีโซ่ที่ล่ามคุณอยู่”

เดือนวาดสรุปว่า ผลงานเพื่อชีวิต เชิดชูประชาชนทั้งหลายสุดท้ายก็เป็นเพียงคำโฆษณาทางการเขียน โฆษณาชวนเชื่อทางความคิดเท่านั้น โดยไม่ได้มาจากรากทางความคิดของบรรดาศิลปินที่แท้จริง

“งานเขียนของผู้ที่มีความรู้ งานเขียนของปัญญาชน จินตนาการดีมาก ภาษาดีมาก เรื่องราวที่คิดมาจากความรู้ที่คิดค้น มาจากภูมิรู้ที่แน่นมาก แต่เรื่องราวซึ่งสามารถสะท้อนความรู้สึก ที่อ่านแล้วน้ำตาไหลหรือทำให้เราเปลี่ยนชีวิตมาได้เมื่อสิบปีที่แล้ว บัดนี้กลับกลายเป็นคำโฆษณาชวนเชื่อเพื่อยกย่องตัวเองเท่านั้น ขณะนี้สิ่งที่จะทำให้เกิดวรรณกรรมขึ้นในยุคสมัยซึ่งสถานการณ์รุนแรงขนาดนี้ กลับเป็นชาวบ้านคนหนึ่ง ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ โดนเล่นงานด้วยความอยุติธรรม”

หลังจากเดือนวาดวิจารณ์แวดวงนักเขียนและศิลปินแล้ว สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้วิจารณ์บทบาทของปัญญาชน นักวิชาการ โดยในตอนต้นของการอภิปรายสมศักดิ์ได้กล่าวขอบคุณทีมงานกลุ่มต่างๆ ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดสดงานเสวนา งานอภิปรายต่างๆ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนมาเป็นเวลายาวนาน เป็นการปิดทองหลังพระที่ทำให้ผู้คนได้มีโอกาสฟังการแลกเปลี่ยนต่างๆ ได้กว้างขวางยิ่งขึ้นและเป็นหลักฐานดิจิตอลที่สำคัญมากในทางประวัติศาสตร์

สมศักดิ์กล่าวว่า กรณีอากงกับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 มีความน่าสนใจที่สามารถสะท้อนเรื่องน่าเศร้าของการขาดความกล้าหาญทางคุณธรรม (moral courage) ของสังคมไทยได้ โดยเฉพาะนักวิชาการที่คิดว่าตนเป็นนักวิชาการฝั่งประชาธิปไตย ซึ่งสมศักดิ์เชื่อว่ามีเป็นจำนวนมากหลายร้อยคน

เขากล่าวว่า กรณีอากงและกรณีสวรรคต สะท้อนลักษณะการเสียสติ ของ royalist ของไทย โดยย้ำว่า ‘เสียสติ’ ไม่ใช่การกล่าวขำๆ แต่เสียสติในที่นี้คือ เสียอะไรบางอย่างที่เป็นสามัญสำนึก ซึ่งโดยปกติสามารถมีวิจารญาณได้ ในชีวิตประจำวันของเรามีเรื่องจำนวนมากที่โดยสามัญสำนึกของทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเป็นไปไม่ได้ เมื่อใดก็ตามที่มีปัญหาทางการเมืองบางอย่างซึ่งโดยสามัญสำนึกควรได้ข้อสรุปโดยไม่ต้องคิดมาก แต่คนกลับทำเป็นประเด็นขึ้นมา

สมศักดิ์ยกกรณีล่าสุดเรื่องทราย เจริญปุระทำกาแฟลวกมือแล้วโพสต์ในเฟซบุ๊กในวันที่ 5 ธ.ค. แล้วถูกตีความว่าพูดถึงสถาบัน หรือกรณีมติชนเขียนบทอาเศียรวาทแล้วกลายเป็นประเด็นการตีความว่าจาบจ้วง โดยชี้ว่า พนันได้เลยว่าอีก 40-50 ปีข้างหน้า คนต้องหันมามองว่าสมัยหนึ่งคนเราเสียสติขนาดนี้ได้อย่างไร นี่คืออาการเสียสติในความหมายของเขา

เขาชี้ว่าประเด็นสำคัญที่ต้องตั้งคำถามคือ เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร โดยเขานิยามด้วยว่า อาการลักษณะนี้เป็นลักษณะใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและแตกต่างจากยุค 6 ตุลา เพราะกลุ่มกระทิงแดง นวพล เป็นกลไกรัฐ ฝ่ายขวาจัดตั้งขึ้น และส่วนใหญ่เป็นชนชั้นล่าง แต่ปัจจุบันเกิดอาการนี้ในหมู่คนมีการศึกษา ดูแล้วระดับปริญญาตรีขึ้นไปทั้งสิ้น ซึ่งเป็นภาวะที่ใหม่มากๆ

เขาอธิบายต่อว่า อุดมการณ์กษัตริย์นิยมแบบเสียสติแบบนี้ เป็นลักษณะที่ตรงข้ามกับการปลดปล่อยตัวเองแบบยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งผู้คนปลดปล่อยชีวิตตัวเองหลายอย่าง ที่ชัดเจนคือ ชีวิตเซ็กส์ ซึ่งมีเสรีภาพมากขึ้น แต่ทำไมพร้อมๆ กันนี้กลับเกิดอุดมการณ์แบบนี้ได้อย่างเข้มข้นมากในหมู่คนชั้นกลางผู้มีการศึกษา ทั้งที่การศึกษาน่าจะนำมาซึ่งความมีเหตุมีผลมากขึ้น



สมศักดิ์ กล่าวว่า เขาจะลองเสนอคำตอบต่อคำถามนี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ มีทั้งปัจจัยที่นักวิชาการคุมได้และคุมไม่ได้ ปัจจัยที่คุมไม่ได้คือ การเติบโตของชนชั้นกลางไทย ซึ่งโตมาโดยไม่มีอะไรเป็นอุดมการณ์ของตัวเองจริงๆ ศาสนาพุทธก็ไม่สามารถรองรับได้ ต่างจากสังคมตะวันตกที่ยังมีอุดมการณ์เสรีนิยม ปัจเจกชนนิยมให้คนชั้นกลางยึดถือ คนชั้นกลางไทยจึงต้องคว้าอุดมการณ์กษัตริย์นิยมไว้ยึดเหนี่ยว อีกปัจจัยหนึ่งคือความล้มเหลวของเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก กระแสกษัตริย์นิยมขึ้นสูงมากๆ ผ่านกระแสเศรษฐกิจพอเพียง การโปรโมตประมุขในฐานนักเขียนและผู้นำทางคิดนั้นเป็นเรื่องใหม่แตกต่างจากในอดีต

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกี่ยวพันกับบทบาทปัญญาชนซึ่งจะมีส่วนช่วยไม่ให้สถานการณ์หนักหน่วงอย่างปัจจุบันได้ก็มี โดยสมศักดิ์ชี้ว่า เป็นความผิดพลาดสำคัญตั้งแต่ประมาณปี 2535 เป็นต้นมา เพราะปัญญาชนที่มีชื่อเสียงทั้งหลายพร้อมใจกันยอมประเด็นสถาบันกษัตริย์กันหมดและเห็นว่าไม่สำคัญ เช่น กรณีที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ เกษียร เตชะพีระ ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ เสน่ห์ จามริก ออกมาพูดเชียร์เศรษฐกิจพอเพียง สมศักดิ์ยังหยิบยกตัวอย่างกรณีนิธิ ว่าพลาดอย่างมากที่เคยพูดหลังรัฐประหารใหม่ๆ ว่า ทักษิณอันตรายกว่าสฤษดิ์ ผู้ซึ่งฟื้นระบอบกษัตริย์นิยมขึ้นมา เพราะสะท้อนให้เห็นว่าภูมิปัญญาของปัญญาชนไทยไม่ชัดเจนขนาดไหนในประเด็นสถาบันกษัตริย์ หรือกรณีเกษียรมีงานในลักษณะ network monarchy ทำเหมือนนิธิคือ อัดนักการเมืองอย่างเดียวอย่างหนักหน่วง นอกจากนี้ยังมีความล่าช้าในการเข้าใจปรากฏการณ์เรื่องนี้กว่าประชาชนรากหญ้าเสียอีก ทั้งนี้ เขาระบุว่าไม่ได้ต้องการโจมตีตัวบุคคลแต่หยิบยกตัวอย่างสำคัญมาเพื่อให้เห็นถึงปัญหา

“ตั้งแต่ปี 35 เป็นต้นมา ปัญญาชนพร้อมใจกันดร็อปประเด็นสถาบันกษัตริย์หมด แล้วในช่วงเดียวกันนี้ที่มีการโปรโมตสถาบันกษัตริย์อย่างมโหฬาร ปัญญาชนไม่เพียงแต่วันดีคืนดีก็ไปเชียร์ มิหนำซ้ำยังทำอีกอย่างหนึ่งซึ่งช่วยอย่างมากในการเสริมกระแสนั้น คือ การอัดนักการเมือง” สมศักดิ์กล่าว

สมศักดิ์ยังยืนยันว่า ถึงวินาทีนี้ปัญญาชนที่คิดว่าตัวเองเป็นปัญญาชนปีกซ้ายก็ยังไม่ยอมตระหนักถึงประเด็นนี้อย่างแท้จริงว่ามันสำคัญขนาดไหน เพราะคนเหล่านี้ไม่เคยใช้ความคิดจริงๆ เกี่ยวกับเรื่องสถาบัน เมื่อเร็วๆ นี้ไปดีเบตในวงวิชาการ เขาบอกว่าสมศักดิ์เห็นแต่เรื่องสถาบัน ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องอื่น ได้ยินแล้วเศร้ามาก เพราะถ้าคุณปลดล็อกประเด็นนี้ไม่ได้ เรื่องอื่นก็ไม่สามารถอ้างความสำคัญได้

“ถ้าไม่ปลดล็อกอันนี้ เรื่องอื่นๆ ไม่มีความหมายเลย เรื่องนักการเมือง ผมพูดมาหลายปีแล้วว่าต่อให้คุณด่านักการเมืองให้ตาย ในแง่หนึ่งมันไม่มีความหมาย ผมถามง่ายๆ ว่าคำวิจารณ์พวกนี้มันแอพพลายได้เฉพาะนักการเมืองหรือเปล่า ถ้ามันไม่ได้แอพพลายเฉพาะนักการเมืองแล้วคุณด่าเฉพาะนักการเมือง ก็เท่ากับคุณผลิตซ้ำสิ่งที่เป็นกรอบที่เขาขีดไว้ให้คุณเท่านั้นเอง”สมศักดิ์กล่าว

“ตราบเท่าที่มีเพดานความคิดอย่างนี้ สิ่งที่คุณทำมันไม่เรียกว่าวิชาการด้วยซ้ำ วิชาการคือเลือกที่จะทำอะไรก็ได้ ด้วยวิธีไหนก็ได้” สมศักดิ์กล่าว

เขากล่าวว่า เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ความรุนแรงปี 53 ที่เขาวิจารณ์ว่า ศปช. ควรไปทำเรื่องสถาบันมากกว่าทำเรื่องคนตาย นั่นเพราะทุกวันนี้เราสามารถเรียกร้องให้เอาผิดกับนักการเมืองได้อยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ต่อให้นำอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ มาลงโทษได้ ก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหา การรัฐประหารซึ่งเป็นบ่อเกิดของเรื่องก็จะยังเกิดขึ้นได้ต่อไป

“ในฐานะอยู่ในวงการศึกษา ผมเฮิร์ต ผมชอบอาชีพนี้ ผมรักมัน แล้วการมองเห็นคนเสียสติซึ่งจบปริญญาตรีเต็มไปหมดขนาดนี้ คำถามในฐานะที่คุณเป็นอาจารย์สอนอะไรก็แล้วแต่ คุณทนเห็นมันได้อย่างไร”สมศักดิ์กล่าวและว่าหัวใจการศึกษาคือคนต้องมีสิทธิตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ใช่เชื่อข้อมูลที่ตรวจสอบไม่ได้หรือข้อมูลด้านเดียว แต่เมื่อยังมีกรอบเรื่องนี้ เรียนอะไรไม่มีความหมาย เพราะหัวใจของการศึกษาสมัยใหม่ถือว่ายังไม่มีในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่าทำไมนักวิชาการจึงไม่เข้าใจการกระตุ้นของเขา และไม่ออกมามีบทบาทเรื่องนี้ให้มากขึ้น ขณะที่ปัจจุบันดูเหมือนรากหญ้าจะกล้าและเป็นแนวหน้าในเรื่องนี้มากกว่าปัญญาชน และกระแสปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็มีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะปัญญาชนไม่ช่วยกันส่งเสียงเรื่องนี้จริงจัง

เขายังวิจารณ์ข้อเสนอของนิติราษฎร์และ ครก.112 ที่ให้แก้ไขมาตรา 112 ด้วยว่า ไม่เห็นด้วยและเสียดายโอกาสในการนำเสนออย่างยิ่ง เพราะนักวิชาการกลุ่มนี้ควรจะเสนอให้ยกเลิกไปเลย แต่เหตุที่เสนอเพียงแก้ไขเพราะคิดเผื่อโอกาสที่จะเป็นไปได้มากกว่า แต่เรื่องนี้คาดเดาได้แต่แรกอยู่แล้วว่าจะไม่ได้รับการผลักดันต่อจากภาครัฐ ดังนั้น ถ้านิติราษฎร์เสนอให้ยกเลิก แม้รัฐสภาไม่รับลูกต่อหรือเรื่องเงียบไปก็ยังพูดได้ว่า นิติราษฎร์เคยเสนอให้ยกเลิก และเมื่อเรื่องราวถูกฟื้นขึ้นมาใหม่ก็สามารถดำเนินต่อจากจุดนั้นได้เลย

เขาชี้ว่าประเด็นที่สำคัญของการเสนอให้ยกเลิกคือ การทำในเชิงความคิด เป็นการเปิดพื้นที่และช่วงชิงพื้นที่ ซึ่งข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 นั้นทำได้ และควรต้องทำ

“มันเสนอได้ ไม่อย่างนั้นผมลงหลุมไปแล้ว” สมศักดิ์กล่าวและว่านักวิชาการส่วนใหญ่มักสร้างข้ออ้างต่างๆ ให้ตนเอง หรือเห็นว่าสังคมยังไม่พร้อมทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ที่จะพร้อมทั้งหมด แต่ความพร้อมในที่นี้คือ การนำเสนอได้โดยไม่ถูกหาว่าเป็นคนบ้าหรืออันตรายถึงชีวิต

“ภาวะเสียสติในหมู่ชนชั้นกลางที่พวกเราสอนเกิดขึ้นได้ ความรับผิดชอบส่วนหนึ่งเป็นของพวกเรา ผมสามารถอ้างได้ไหมว่าผมไม่ต้องรับผิดชอบกับความบ้าอันนี้เลย ผมเขียนเรื่องสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่คนยังไม่ยอมพูดถึง แต่ผมก็ยังรู้สึกรับผิดชอบต่อความบ้าของคนเรียนมหาวิทยาลัยแต่ยังไร้เหตุผลขนาดนี้ และผมก็ไม่เข้าใจว่าเพื่อนนักวิชาการของผม ที่บอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย เป็นปัญญาชนทวนกระแส ยอมทนเห็นสภาพแบบทุกวันนี้ได้อย่างไร ยอมทนทำงานประจำได้ยังไง จะยอมให้ภาวะแบบนี้เกิดไปอีกนานแค่ไหน” สมศักดิ์กล่าว

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ในฐานะนักวิจารณ์วรรณกรรม ได้กล่าวถึงหนังสือเรื่องรักเอยว่า ต้องขอสารภาพว่าตั้งแต่ทราบว่ามีหนังสือเล่มนี้ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่อ่าน กลัวจะน้ำตาไหล เพราะรู้เรื่องความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้ แต่เมื่อได้อ่านแล้วน้ำตาไหลจริงๆ แต่คนละเหตุผลกับที่คาดคิดไว้ตอนต้น เป็นน้ำตาที่ไหลด้วยอีกเหตุผลหนึ่งแทนความบีบคั้นอารมณ์ เศร้าสะเทือนใจ

ตอนอ่านจนจบทำให้นึกถึงการได้เสวนาที่เชียงใหม่กับสำนักพิมพ์อ่าน เรื่อง พลังของการอ่านและเพดานของการวิจารณ์ วันนั้นคุยว่าการวิจารณ์มีเพดานอย่างไรบ้าง แต่พออ่านหนังสือรักเอย ทำให้เห็นเพดานอีกอันหนึ่ง คือ เพดานของการเขียน ในสังคมที่มีปัญหาหรือมีกฎหมายที่ปิดกั้น โดยเฉพาะกฎหมาย 112 ทำให้การเขียนมีเพดาน เราเขียนมากกว่านั้นไม่ได้ ถ้าจะอ่านหนังสือเล่มนี้ ต้องอ่านใน 3 สิ่ง คือ 1.อ่านเพื่อจะหาว่า สิ่งที่พูดในหนังสือคืออะไร 2.สิ่งที่หนังสือเล่มนี้พูดไม่ได้คืออะไร 3. หนังสือเล่มนี้พูดไม่ได้แต่ต้องพูด คืออะไร ใช้วิธีใด


ชูศักดิ์กล่าวถึงประเด็นแรกว่า เราตระหนักว่าเรารู้ว่ามีเพดานของการเขียนและอ่านอยู่ แต่หนังสือก็พูดอะไรไว้จำนวนหนึ่ง ความประทับใจที่ได้อ่านมันเป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องชีวิตธรรมดาครอบครัวหนึ่งที่ต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบ ขณะเดียวกันเห็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่คนในครอบครัวแสวงหาจากชีวิตประจำวัน หนังสือเล่าตั้งแต่ชีวิตคู่ของคนที่อยู่กันมา 44 ปี เล่าตั้งแต่รู้จักกันใหม่ๆ

เมื่ออ่านแล้วรู้สึกผิดไปจากความหมายค่อนข้างมาก เพราะทำให้เห็นภาพอากงอีกภาพที่ไม่เคยเห็น ฝ่ายที่เกลียดชังอากงอาจจะมองเหมือนปีศาจซาตาน อีกฝ่ายหนึ่งก็อาจเห็นเป็นอากงที่เป็นเหยื่อของความอยุติธรรม แต่เราจะไม่เห็นภาพแง่มุมเล็กๆน้อยๆ อารมณ์ขันของอากง ซึ่งทำให้เราเข้าถึงชีวิตจริงของคนๆ หนึ่ง คนที่เขาไม่ได้เป็นปีศาจซานตานหรือเหยื่อที่น่าสงสาร แต่เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนเราๆ ท่านๆ

ขณะที่ป้าอุ๊ก็ได้ขยาย “ความเป็นมนุษย์” ไปสู่ผู้อื่นด้วย ในหนังสือป้าอุ๊พูดถึงความเป็นมนุษย์ของนักโทษทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะสามีตัวเองหรือนักโทษ 112 และเรียกร้องให้ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเป็นมนุษย์

อย่างไรก็ตาม มีอยู่ครั้งเดียวที่ป้าอุ๊เขียนถึงคดีหมิ่น ถ้าไม่รู้ประวัติมาก่อนก็รู้สึกเป็นครอบครัวธรรมดา ทำไมไม่พูดเรื่องนี้ นี่คือประเด็นที่สอง สิ่งที่หายไป โดยชูศักดิ์ระบุว่าการหายไปของสิ่งนี้ยิ่งกลับทำให้หนังสือเล่มนี้มีความโดดเด่นขึ้นมา เพราะมันทำให้เราเห็นถึงลักษณะของสิ่งที่หนังสือพูดไม่ได้

“เป็นการหายที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันต้องมีอะไรผิดปกติแน่...ถ้าบอกคนอาจไม่รู้สึก แต่พอไม่พูดมันทำให้คนรู้สึก” ชูศักดิ์กล่าวพร้อมกับเปรียบเทียบว่าหนังสือรักเอยให้อารมณ์เหมือนนิยายของคาฟคา เรื่องคำพิพากษา และเรื่องคดีความ

ประเด็นที่สาม สิ่งที่พูดไม่ได้แต่จำเป็นต้องพูด แม้ในหนังสือจะไม่มี xxx หรือแถบดำ แต่ใช้อีกวิธีหนึ่ง คือ วิธีการสร้างบริบทชุดหนึ่งขึ้นมา สร้างเรื่องแวดล้อม ถ้าเราเข้าใจบริบทของการพูดนั้นก็จะทำให้เรารู้ว่าเขากำลังพูดอะไรอยู่

ชูศักดิ์เทียบเคียงกับบันทึกส่วนตัวของผู้หญิงตะวันตกสมัยก่อนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในยุคหลัง บันทึกเขียนว่า “การดำเนินชีวิตและการใช้ชีวิตในแต่ละวันช่างดูละม้ายคล้ายคลึงกันหมดจนฉันไม่มีอะไรจะบันทึก” เราก็อาจนึกว่าแล้วเขียนทำไม แต่หากดูวันที่บันทึกข้อความ เมื่อมีคนไปสืบค้นปรากฏว่าวันนั้นคือวันที่ไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กับสามีของเธอจะเห็นว่าเราจะไม่รู้ความหมายของประโยคนี้ได้เลยถ้าไม่รู้บริบทหรือสถานการณ์ของเธอ

“ผมคิดว่าวิธีการแบบนี้มันก็ช่วย เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เขียนอะไรออกมาได้โดยที่ไม่ต้องเขียน อาศัยบริบทของเรื่องทำให้คนอ่านรู้ได้ว่ากำลังเขียนอะไร” ชูศักดิ์กล่าวพร้อมยกตัวอย่างหลายตอนจากหนังสือรักเอย

“ในท้ายที่สุด รักเอย เป็นหนังสือที่อดน้ำตาซึมไม่ได้เมื่ออ่านจนจบ น้ำตาที่พาลจะไหลหาใช่เพราะหนังสือเล่มนี้บอกเล่าความรักยิ่งใหญ่หวานหยดย้อยปานน้ำผึ้งเดือนห้า หรือซาบซึ้งดื่มด่ำปานจะกลืนกิน แล้วก็ไม่ใช่เพราะหนังสือเล่มนี้พูดถึงความเศร้ารันทดหมดสิ้นใดๆ เหมือนที่หาอ่านได้ในนวนิยายทั่วไป เหตุที่น้ำตาจะไหลซึมออกมาเพราะหนังสือเล่มนี้ทำให้เราตระหนักว่าความรักธรรมดาๆ ของปุถุชนคนธรรมดาๆ ใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมามากกว่า 40 ปี มีอันต้องพลัดพรากจากกันแบบไม่มีวันได้หวนพบกันอีก เพียงเพราะบ้านนี้เมืองนี้มีความรักอันเบ็ดเสร็จอันยิ่งใหญ่ท่วมท้นล้นฟ้าชนิดหนึ่งที่พร้อมจะเข่นฆ่าคนธรรมดาๆ เพราะความรักธรรมดาๆ อย่างไร้ความปราณี” ชูศักดิ์กล่าว

************************************************************************
ซื้อหนังสือ "รักเอย" ได้ที่ร้านหนังสือ "TPNews" ของ "คุณจักรภพ เพ็ญแข" ชั้น 4 ห้างอิมพีเรียลลาดพร้าว (หน้าลิฟต์แก้ว) หรือสอบถาม โทร. 085-5049944

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

“วิเคราะห์กลยุทธ์ฝ่ายตรงข้ามหลังม็อบเสธ.อ้าย”

 
 
ด่วน!! ร่วมเติมความรู้ เพื่อการเท่าทันเหตุการณ์ทางการเมือง


ในวันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม 2555 เวลา 13.00-15.30 น.
พบวิทยากร “ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ”
บรรยายในหัวข้อ “วิเคราะห์กลยุทธ์ฝ่ายตรงข้ามหลังม็อบเสธ.อ้าย”
ณ ร้านหนังสือ “TPNews” ของ “คุณจักรภพ เพ็ญแข”
ชั้น 4 (เยื้องลิฟต์แก้ว) อิมพีเรียลเวิล์ด ลาดพร้าว
 
**********************************************************************


 
ฝ่ายตรงข้ามหลังม็อบเสธ.อ้าย” 

           ณ. ร้านหนังสือ TPNews

“ห้างอิมพีเรียลลาดพร้าว ชั้น 4 (หน้าลิฟต์แก้ว)

 

วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กำหนดการพระราชทานเพลิงศพ "นายวีระชัย แนวบุญเนียร"

 

นายวีระชัย แนวบุญเนียร
อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ฝ่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด เกิดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2483

การศึกษา
นายวีระชัย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์ จากสหรัฐอเมริกา ระดับปริญญาโท สังคมศาสตร์ จากสหราชอาณาจักร และสำเร็จหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

การทำงาน
นายวีระชัย รับราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้รับตำแหน่งสำคัญในกระทรวง อาทิ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เชียงใหม่ สงขลา มหาสารคาม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมโยธาธิการ

ภายหลังจากเกษียณอายุราชการ ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการการเลือกตั้ง ฝ่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน จนกระทั่งลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 สืบเนื่องจากศาลอาญา มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ให้ตัดสิทธิการเลือกตั้ง นายวีระชัย พร้อมกับ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภและนายปริญญา นาคฉัตรีย์ เป็นเวลา 10 ปี และให้จำคุกเป็นเวลา 4 ปี ในคดีที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ฟ้องในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งปี 2541 มาตรา 24, 42 ประกอบ ป.อาญามาตรา 83 (ร่วมกันทำผิด) [1] ต่อมาเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2551 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น[2] จากนั้นจึงได้ยื่นคำร้องเพื่อให้อยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกาแต่นายวีระชัย เสียชีวิตลงเสียก่อน

ถึงแก่กรรม
นายวีระชัย ถึงแก่กรรม เมื่อเช้าวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ด้วยอาการไตวายจากโรคไต สิริอายุได้ 71 ปี

งานพระราชทานเพลิงศพ
เรียนเชิญร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ "นายวีระชัย แนวบุญเนียร" ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน 2555 เวลา 17.30 น.
วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน 2555 เวลา 19.00 น. พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม 


จึงขอกราบเรียน และเรียนเชิญมาด้วยความเคารพ
นางฉันทมน แนวบุญเนียร
นายวิทวัส แนวบุญเนียร
นางสาวณัฐวธู แนวบุญเนียร
(เจ้าภาพฝากขออภัยที่มิได้ออกบัตรเชิญ)


*****************************************************************